แปลจาก...Word History ของ McDougal Littel
แปลโดย...ทรงศักดิ์ สายหยุด

อียิปต์/ราชอาณาจักรกลางและใหม่

ราชอาณาจักรกลางและใหม่
ราชอาณาจักรกลาง (The Middle Kingdom)
เมื่อสิ้นสุดราชอาณาจักรเก่า ความมั่งคั่งและอำนาจของฟาโรห์ก็เสื่อมลง การก่อสร้างและการดูแลรักษาพีระมัดก็สิ้นเปลืองเงินเป็นจำนวนมาก ฟาโรห์ก็ไม่สามารถจะเก็บสะสมภาษีให้เพียงที่จะดำเนินการต่อไป ในเวลาเดียวกัน ชนชั้นสูงผู้มีความทะเยอทะยานก็ใช้ตำแหน่งทางการปกครองยึดอำนาจจากฟาโรห์
ในไม่ช้า ชนชั้นสูงก็มีอำนาจเพียงพอที่จะท้าทายอำนาจฟาโรห์ ประมาณ 2.200 ปีก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรเก่าก็ล่มสลายลง ถัดมาอีก 160 ปี ชนชั้นสูงในท้องถิ่นก็ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอำนาจในอียิปต์ ราชอาณาจักรจึงไม่มีจุดศูนย์กลางในการปกครอง ความสับสนวุ่นวายในอียิปต์ ก็ทำให้การค้าขายกับดินแดนต่างถิ่นหยุดชะงัก และทำให้เกษตรกรรมเสื่อมลง ประชาชนก็ประสบกับความทุกข์ยากด้านเศรษฐกิจและภาวะข้าวยากหมากแพง
ในที่สุด ประมาณ 2.050 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์ผู้ทรงประสิทธิภาพ พระนามว่า เมนทูโฮเทป ที่ 2 (Mentuhotep II) ก็พิชิตศัตรูคู่แข่งของพระองค์ อียิปต์ทั้งหมดจึงรวมตัวเป็นเอกภาพอีกครั้งหนึ่ง   ฟาโรห์เมนทูโฮเทปจึงเริ่มปกครองราชอาณาจักรกลาง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีเสถียรภาพ ดำรงอยู่จนกระทั่งประมาณ 1,750 ปีก่อนคริสตกาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกือบจะถึงปลายราชอาณาจักรกลาง อียิปต์ก็ประสบกับความวุ่นวายภายในอีกครั้ง ฟาโรห์ไม่สามารถจะควบคุมราชอาณาจักเข้าด้วยกันได้ เกิดปัญหาอื่นอีกในอียิปต์ด้วย ในกลางศตวรรษที่ 1700 ก่อนคริสตกาล กลุ่มคนจากเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่เรียกว่า ฮิกโซส (Hyksos) ก็เข้ารุกราน พวกฮีกโซสใช้ม้า รถเทียมม้าสองล้อ และอาวุธที่ก้าวหน้าเข้าพิชิตอียิปต์ตอนล่าง ซึ่งพวกฮีกโซสก็ปกครองเป็นเวลา 200 ปี
ชาวอียิปต์ไม่ชอบที่ถูกพวกฮีกโซสยึดครอง ประชาชนของอียิปต์จึงไม่พอใจการจ่ายภาษีให้กับผู้ปกครองชาวต่างชาติ ในที่สุด ชาวอียิปต์จึงต่อสู้กลับ ในกลางศตวรรษที่ 1500 ก่อนคริสตกาล อาห์มโอส หรือ อาห์โมส (Ahmose) แห่งเมืองธีบส์จึงได้ขับไล่พวกฮีกโซสออกจากอียิปต์ เมื่อพวกฮีกโซสถูกขับไล่ออกไป อาห์โมสจึงประกาศตัวเองเป็นกษัตริย์ของอียิปต์ทั้งหมด

ราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom)
การขึ้นสู่อำนาจของอาห์โมสเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์  ที่สำคัญมากกว่านั้น เป็นการเริ่มต้นของราชวงศ์ใหม่ เป็นช่วงเวลาระหว่างที่อียิปต์มีอำนาจและความรุ่งเรืองถึงจุดสูงสุด ในช่วงเวลาแห่งราชอาณาจักรใหม่ ซึ่งดำรงอยู่ตั้งแต่ประมาณ 1550 ปี ก่อนคริสตกาล ถึง 1050 ปีก่อนคริสตกาล ชัยชนะและการค้าขายได้นำความมั่งคั่งมากมายมาสู่ฟาโรห์

การสร้างจักรวรรดิ
หลังจากต่อสู้กับพวกฮีกโซส เหล่าผู้นำชาวอียิปต์ก็กลัวจะมีการรุกรานในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรุกรานเช่นนั้น พวกเขาจึงตัดสินใจยึดครองเส้นทางการรุกรานที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเส้นทางเข้าไปในราชอาณาจักร ในขบวนการ ผู้นำเหล่านี้ก็ได้ทำให้อียิปต์กลับไปสู่ความเป็นจักรวรรดิ
เป้าหมายแรกของอียิปต์คือบ้านเกิดเมืองนอนของพวกฮีกโซส หลังจากยึดครองบริเวณนั้นแล้ว กองทัพก็ยาตราทัพขึ้นไปทางเหนือและพิชิตซีเรีย (Syria) อียิปต์ได้ยึดครองชายฝั่งตะวันออกทั้งหมดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และพิชิตอาณาจักรกูชที่อยู่ทางตอนใต้ของอียิปต์อีกด้วย (ดูแผนที่)  ประมาณศตวรรษที่ 1400 ก่อนคริสตกาล อียิปต์เป็นผู้นำทางอำนาจทหารในภูมิภาคนั้น จักรวรรดิของอียิปต์ได้แผ่ขยายจากแม่น้ำยูเฟรติสไปจนถึงนูเบีย (Nubia) ทางทิศใต้
ชัยชนะทางทหารทำให้อียิปต์มั่งคั่งร่ำรวย อาณาจักรที่อียิปต์พิชิตได้ก็ส่งทรัพย์สมบัติไปให้ผู้พิชิตชาวอียิปต์เป็นประจำ ยกตัวอย่างเช่น อาณาจักรกูชในนูเบีย ก็ได้ส่งค่าใช้จ่ายประจำปีเป็นทองคำ หนังเสือดาว และหินมีค่าไปถวายฟาโรห์ กษัตริย์ชาวอัสซีเรีย (Assyria) บาบิโลเนีย (Babylonia) และฮิตไทต์ (Hittite) ก็ยังได้ส่งของขวัญล้ำค่าไปยังอียิปต์เพื่อพยายามรักษาความสัมพันธภาพอันดีด้วย

ความเจริญรุ่งเรืองและผลกระทบทางการค้าขาย
ชัยชนะยังได้นำเหล่าพ่อค้าชายอียิปต์ไปติดต่อกับดินแดนที่ห่างไกลมากขึ้น การค้าขายของอียิปต์แผ่ขยายไปพร้อมด้วยจักรวรรดิ เส้นทางการค้าขายที่มีผลประโยชน์หรือหนทางที่เหล่าพ่อค้าเดินตามรอยกันก็วิวัฒนาการขึ้น ดินแดนมากมายที่อียิปต์ยึดครองยังเป็นแหล่งที่มีค่าสำหรับการค้าขายอีกด้วย ยกตัวเช่น คาบสมุทรไซนาย (Sinai Peninsula) ก็มีสินค้าประเภทพลอยเทอคอยส์ (turquoise)และทองแดงเป็นจำนวนมาก
ผู้ปกครองคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อให้การค้าขายของอียิปต์เจริญขึ้น คือ ราชินีแฮตเชปซุต (Queen Hatshepsut) เธอได้สั่งเหล่าพ่อค้าชาวอียิปต์ไปทางทิศใต้เพื่อค้าขายกับอาณาจักรพันต์ (Punt) บนฝั่งทะเลแดงและไปทางทิศเหนือเพื่อค้าขายกับประชาชนแห่งเอเชียไมเนอร์ (Asia Minor) และกรีซ
แฮตเชปซุตและฟาโรห์ทั้งหลายองค์ต่อ ๆ มาก็ได้ใช้ความมั่งคั่งที่ได้จากการค้าขายเพื่อสนับสนุนศิลปะและสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฮตเชปซุตได้รับการจดจำไว้เป็นอนุสาวรีย์ที่น่าประทับใจมากมายและวิหารได้สร้างขึ้นในช่วงรัชสมัยของเธอ ในบรรดาสิ่งก่อสร้างที่มีชื่อเสียงที่สุดเหล่านี้คือวิหารอันสง่างามซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเธอใกล้เมืองธีบส์ (Thebes)

การรุกรานอียิปต์
แม้จะประสบผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ทหารอียิปต์ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้อื่นเกรงขาม ในศตวรรษที่ 1200 ก่อนคริสตกาล ฟาโรห์รามเสส ที่ 2 หรือรามเสสมหาราช (Ramses II  or Ramses the Great) ซึ่งเป็นฟาโรห์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของอียิปต์ ก็ได้ต่อสู้กับพวกฮิตไทต์ (Hittite) ซึ่งเป็นกลุ่มคนจากเอเชียไมเนอร์ ทั้งสองอำนาจได้ต่อสู้กันอย่างดุเดือดเป็นเวลาหลายปี แต่ไม่มีผู้ใดชนะได้ รามเสสและผู้นำฮีตไทต์จึงลงนามสงบศึกในที่สุด หลังจากนั้น ชาวอียิปต์และฮีตไทต์ก็กลายเป็นพันธมิตรกัน
อียิปต์ได้เผชิญกับการคุกคามในส่วนอื่นของจักรวรรดิด้วย ทางด้านตะวันตก ผู้คนที่เรียกกันว่า เตเหนู (Tehenu) ได้รุกรานสามเหลี่ยมแม่น้ำไนล์ รามเสสได้ต่อสู้กับคนเหล่านั้นให้พ่ายแพ้และสร้างป้อมปราการเป็นชุด ๆ เพื่อทำให้ชายแดนด้านทิศตะวันตกเข้มแข็งแรง วิธีนี้พิสูจน์ได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดเนื่องจากพวกเตเหนู ได้เข้ารุกรานอีกครั้งเมื่อศตวรรษต่อมา อย่างไรก็ตาม เมื่อเผชิญกับการป้องกันที่เข้มแข็งของอียิปต์ ชาวเตเหนูจึงพ่ายแพ้มากกว่าหนึ่งครั้ง
ในไม่ช้าหลังจากรามเสสมหาราชสวรรคต ผู้รุกรานที่เรียกว่า คนทะเล (Sea Peoples) ก็แล่นเรือเข้าไปสู่เอเชียตะวันตกเฉียงใต้  เรื่องคนพวกนี้มีความรู้น้อยมาก นักประวัติศาสตร์ไม่แน่ใจแม้กระทั่งว่าคนพวกนี้เป็นใคร รู้แต่ว่าพวกเขาเป็นนักรบที่แข็งแรงบดขยี้พวกฮิตไทต์และทำลายเมืองหลายเมืองในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ หลังจากต่อสู้เพียง 50 ปีเท่านั้น ชาวอียิปต์ก็สามารถตีกลับคนพวกนั้นได้
อียิปต์จึงอยู่รอดปลอดภัย แต่จักรวรรดิในเอเชียก็ล่มสลาย หลังจากการรุกรานของพวกฮีตไทต์และคนทะเลเพียงสั้น ๆ ราชอาณาจักรใหม่ก็ถึงกาลอวสาน อียิปต์ก็ตกอยู่ในช่วงเวลาแห่งความรุนแรงและความสับสนวุ่นวายอีกครั้ง อียิปต์ก็ไม่เคยได้อำนาจกลับคืนมาอีกเลย


การทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน
แม้ว่าราชวงศ์อียิปต์จะรุ่งเรืองและล่มสลายลง การใช้ชีวิตประจำวันสำหรับชาวอียิปต์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ในขณะที่ประชาชนเจริญขึ้น สังคมก็กลายเป็นสังคมที่สลับซับซ้อน สังคมที่สลับซับซ้อนจำเป็นต้องให้ประชาชนมีการจ้างงานต่าง ๆ

อาลักษณ์
นอกจากนักบวชและข้าราชการแล้ว ก็ไม่มีใครในอียิปต์ที่ได้รับเกียรติยศมากกว่าอาลักษณ์  พวกเขาทำงานให้รัฐบาลและนักบวช อาลักษณ์จดบันทึกและบัญชีให้กับรัฐ พวกเขายังเขียนและคัดลอกคัมภีร์ทางศาสนาและวรรณคดีอีกด้วย อาลักษณ์ไม่เสียภาษี และมีจำนวนมากที่เป็นคนมั่งคั่ง

ช่างฝีมือ ศิลปิน และสถาปนิก
ต่ำลงมากว่าอาลัษณ์บนลำดับชั้นทางสังคมคือช่างฝีมือซึ่งมีงานในการใช้ทักษะที่ชำนาญ ในหมู่ช่างฝีมือผู้ที่ทำงานในอียิปต์คือประติมากร ช่างก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างเพชรพลอย ช่างโลหะ และช่างทำหนัง ช่างฝีมือของอียิปต์ส่วนมากทำงานให้กับรัฐบาลหรือวิหาร พวกเขาปั้นรูปปั้น ทำเฟอร์นิเจอร์ เพชรพลอย ปั้นดินเผา เครื่องรองเท้า และสินค้ารายการอื่น ๆ
สถาปนิกและศิลปินยังเป็นผู้ที่ไดรับการยกย่องสรรเสริญในอียิปต์ สถาปนิกได้ออกแบบวิหารและสุสานหลวงซึ่งทำให้อียิปต์มีชื่อเสียง สถาปนิกที่มีความสามารถพิเศษอาจจะรุ่งเรืองจนกลายเป็นข้าราชการชั้นสูงได้ ศิลปินได้รับการว่าจ้างจากรัฐหรือวิหารเป็นประจำ ให้ผลิตงานต่าง ๆ มากมาย ศิลปินทำงานในสุสานของฟาโรห์เป็นประจำ ด้วยการวาดภาพที่มีรายละเอียด

ทหาร
หลังจากราชอาณาจักรกลาง อียิปต์ก็ได้สร้างกองทัพมืออาชีพ กองทัพให้โอกาสที่จะรุ่งเรืองในสถานภาพ เหล่าทหารจะได้รับที่ดินเป็นค่าจ้างและอาจจะเก็บรักษาทรัพย์สมบัติที่พวกเขายึดมาได้ในสงครามไว้ได้ ผู่ที่มีความเก่งกาจสามารถอาจจะได้รับการสนับสนุนให้ได้รับตำแหน่งนายทหาร

ชาวไร่และชาวนา
ชาวนาและชาวไร่อื่น ๆ ของอียิปต์อยู่ชั้นล่างสุดของสังคมอียิปต์ พวกเขาเป็นประชากรส่วนใหญ่มากของประชากรอียิปต์ ชาวนาชาวไร่ใช้เสียมไม้และไถที่ลากด้วยโคเพื่อเตรียมดินก่อนที่แม่น้ำไนล์จะไหลท่วม หลังจากน้ำท่วมระบายออก พวกเขาก็จะปลูกพืชผล ชาวนาทำงานร่วมกันเพื่อเก็บรวบรวมผลผลิต

พวกชาวนาจำต้องให้พืชผลแก่ฟาโรห์เป็นภาษี ชาวชนบททั้งหมด รวมทั้งชาวนาเป็นประชากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบเป็นพิเศษ ฟาโรห์จะมีความประสงค์ให้ประชาชนมาทำงานในโครงการ เช่น การสร้างพีระมิด ทำเหมืองทองคำ หรือการสู้รบในสงครามเมื่อใดก็ได้

ทาส
ทาสจำนวนน้อยในอียิปต์ถูกมองว่าเป็นชนชั้นต่ำกว่าชาวนา พวกเขาทำงานในทุ่งนา ในการสร้างโครงการ และในครอบครัว ทาสมีสิทธิทางกฎหมายบางอย่างและในบางกรณีอาจจะได้รับอิสรภาพ

ชีวิตครอบครัวในอียิปต์
ครอบครัวชาวอียิปต์ส่วนมากอาศัยอยู่ในบ้านพักของตนเอง ผู้ชายได้รับการคาดหวังว่าจะแต่งงานตอนเป็นหนุ่มเพื่อว่าพวกเขาสามารถเริ่มมีลูก ผู้หญิงชาวอียิปต์ส่วนมากอุทิศตนให้กับบ้านพักและครอบครัวของตนเอง อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางพวกก็ทำงานนอกบ้าน  มีเพียงเล็กน้อยทำหน้าที่เป็นนักบวชผู้หญิง และบางคนทำงานเป็นนักบริหารและเป็นช่างฝีมือ ผู้หญิงอียิปต์ส่วยมากไม่เหมือนผู้หญิงส่วนมากในโลกโบราณ  มีสิทธิทางกฎหมายที่แน่นอน สิทธิเหล่านี้รวมถึงสิทธิที่จะมีทรัพย์สมบัติเป็นของตนเอง สิทธิในการทำสัญญา และสิทธิในการหย่าจากสามีของตนเอง
          เด็ก ๆ จะเล่นของเล่น มีส่วนร่วมในกีฬาที่ต้องใช้ลูกเล่น เช่น ฟุตบอล และการล่าสัตว์ เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงส่วนมากจะศึกษาเล่าเรียน ที่โรงเรียนพวกเด็ก ๆ จะเล่าเรียนศีลธรรม การเขียน คณิตศาสตร์ และการกีฬา เมื่ออายุ 14 ขวบ เด็กผู้ชายส่วนมากจะออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าสู่อาชีพของบิดาของตนเอง




ราชินีแฮตเชปซุต (Queen Hatshepsut)


อัตชีวประวัติ
ราชินีแฮตเชปซุต (Queen Hatshepsut ครองราชย์ 1472–1458 ปี ก่อนคริสตกาล)
แฮตเชปซุตอภิเษกสมรสกับฟาโรห์ธทุตโมส ที่ 2 (Thutmose II) ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกันของเธอ พระองค์ได้สวรรคตตั้งแต่วัยเยาว์ ทิ้งบัลลังก์ให้กับทุตโมสที่ 3 (Thutmose III) ซึ่งเป็นโอรสของพระองค์ที่เกิดจากหญิงอื่น เนื่องจากธุตโมสที่ 3 ยังทรงวัยเยาว์มาก แฮตเชปซุตจึงขึ้นครองอำนาจ
ประชาชนมากมายไม่คิดว่าผู้หญิงจะสามารถปกครองได้ แต่แฮตเชปซุตแต่งพระองค์เป็นผู้ชายและเรียกตัวเองว่ากษัตริย์ หลังจากแฮตเชปซุตสวรรคตลง บุตรเลี้ยงของเธอ (หมายถึงทุตโมสที่ 3) จึงได้อำนาจคืนมาและทำลายอนุสาวรีย์ที่แฮตเชปซุตสร้างไว้ในระหว่างที่เธอปกครองลงเสียทั้งหมด








อัตชีวประวัติ
ฟาโรห์รามเสสมหาราช (มีชีวิตอยู่ระหว่างปลายศตที่ 1300 ถึง ต้นศตวรรษ 1200 ก่อนคริสตกาล)
            ในฐานเป็นฟาโรห์ รามเสสอาศัยอยู่ในเมืองที่พระองค์ทรงสร้างบนสามเหลี่ยมแม่น้ำไนล์ (Nile Delta) เมืองนี้มีชื่อว่า Pi-Ramesse หมายความว่า “ที่พำนักหรือทรัพย์สินของรามเสส (house of Ramses)”
ตั้งแต่ทรงเยาว์วัย รามเสสได้รับการฝึกอบรมให้เป็นนักปกครองและการต่อสู้ พระองค์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำกองทัพตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ยิ่งไปกว่านั้น ได้เริ่มปฏิบัติการทางด้านทหารก่อนที่จะขึ้นเป็นฟาโรห์เสียอีก ในช่วงเวลาที่ทรงครองราชย์ รามเสสได้ขยายขนาดของจักรวรรดิอย่างยิ่งใหญ่
ประชาชนจำนวนมากนับถือรามเสสเป็นฟาโรห์ชาวอียิปต์ที่ยิ่งใหญ่พระองค์สุดท้าย พระองค์ทำสิ่งใหญ่ให้ประสบผลสำเร็จ แต่ฟาโรห์องค์ต่อมาไม่สามารถรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ได้ พระองค์มีชื่อเสียงมาก ทั้งเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่และสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่ อนุสาวรีย์อันใหญ่โตมหึมาที่พระองค์ทรงสร้าง วิหารที่ คาร์นัค (Karnak)  ลักซอร์ (Luxor) และอะบูซิมเบล (Abu Simbel) ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของฟาโรห์ผู้ยิ่งใหญ่ อายุกว่า 3.000 ปี

 
ภาพวาดนี้ รามเสสมหาราชประทับอยู่บนรถสองล้อเทียมด้วยม้า ในการทำสงครามกับพวกฮีตไทต์